จากงานวิจัย สู่การสร้างธุรกิจ…
“สำหรับ SMEs ตัวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก เราใช้เวลาในการก่อตั้ง ธุรกิจนานเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่สุดท้ายก็สามารถก่อตั้งธุรกิจและมีความพร้อมที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง“
เมื่อหมอวินิจฉัยว่าคุณแม่ป่วยเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงซีกขวา ต้องใช้ไม้เท้าและรถเข็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะต้องฉีดยาและกินยาตลอดชีวิต ทำให้คุณกัญญ์ภัสสร์ พลชัยศรี คิดขึ้นมาว่าต้องหาทางรักษาแม่ให้ได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นผลิตภัณฑ์แบรนด์ “กัญญ์ ” (Kann) ที่คิดค้นและพัฒนาขมิ้นชันและไพลสู่เวชภัณฑ์เพื่อรักษาอาการทางกล้ามเนื้อ ด้วยนวัตกรรมนาโนที่ได้รับการรับรองด้านงานวิจัยและมาตรฐานจากหน่วยงานชั้นนำหลากหลายสถาบัน
“คิดในใจว่าต้องรักษาแม่ให้หายให้ได้ ก็เริ่มหาข้อมูลว่ามีวิธีใดได้บ้าง รวมถึงคุยปรึกษากับพี่สาวที่เป็นพยาบาล จนไปค้นเจอข้อมูลในเว็บไซต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีนาโนจึงเกิดความสนใจ จนกระทั่งมาขอคำปรึกษากับทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จังหวัดเชียงใหม่ ว่าเราอยากรู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น โดยทาง สวทช. ก็ได้พาไปพบกับนักวิจัยในศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ”
โจทย์ของเธอตั้งต้นที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาลงตัวที่ไพลและขมิ้นชันเป็นตัวชูโรง เพราะมีคุณสมบัติบรรเทาอาการกล้ามเนื้อที่ตึงให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเมื่อยล้า เลือกผลิตเป็นเนื้อครีมสีขาว ใช้ง่าย สีไม่ติดเสื้อผ้า แก้จุดด้อยเรื่องสีของสมุนไพร โดยใช้เทคนิคนาโนเอนแคปซูเลชั่นเพิ่มประสิทธิภาพการปลดปล่อยสารสำคัญจากไพลและขมิ้นชัน ซึมซาบสู่ชั้นผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลลัพธ์จากการทดลองให้คุณแม่ใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบนานกว่า 6 เดือน ปรากฏว่าทำให้คุณแม่เดินได้ ไม่ต้องใช้ไม้เท้าประคองเดินเหมือนก่อน รวมถึงช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ จนถึงกับเอ่ยปากว่า “ลูกทำออกมาขายเถอะ เผื่อคนแก่คนอื่นจะได้ใช้บ้าง” จุดประกายให้เธอสนใจนำไปต่อยอดธุรกิจแบบเต็มตัว เริ่มจากก่อตั้งโรงงานผลิตเป็นของตนเอง ตั้งเป้าในอนาคตจะขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องสมุนไพร
จากโปรแกรมเมอร์สายไอทีที่ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ขาดความพร้อมในหลายด้าน ทั้งด้านองค์ความรู้ เงินทุน และการก่อตั้งโรงงาน ก้าวมาเป็นผู้ประกอบการที่มีกิจการของตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ คุณกัญญ์ภัสสร์ได้เข้ารับการอบรมสัมมนาต่างๆ ที่ตรงตามเป้าหมายของการทำธุรกิจ และเข้ารับคำปรึกษาจากหลายหน่วยงานของรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่องานวิจัยออกมาสำเร็จพร้อมเชิงพาณิชย์ได้ทันที เช่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 , สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) , อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STep) , กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หนึ่งในก้าวย่างที่ชัดเจนคือเส้นทางการสร้างโรงงานผลิตสินค้าด้านเครื่องสำอางให้ถูกต้องและตรงตามมาตรฐานของรัฐ คุณกัญญ์ภัสสร์ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนา SMEs ตามระบบมาตรฐานฮาลาล โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เริ่มจากการได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างโรงงานตรงตามฮาลาล ทำให้เธอเริ่มปรับปรุงโครงสร้างบ้านให้เป็นโรงงานที่ถูกต้อง ได้รับมาตรฐานการผลิต รวมถึงได้รับคำแนะนำการนำเครื่องจักรมาใช้
ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายหลักของกัญญ์ เฮอร์เบิล เน้นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ เนื่องจากต้นทุนน้อยกว่าการขายผ่านร้านค้าปลีก ประกอบกับเป็นสินค้าใหม่จึงสร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ก่อนในระยะแรก และมีแผนที่จะไปทำตลาดในต่างประเทศต่อไป เนื่องจากสมุนไพรไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล
“สำหรับ SMEs ตัวเล็กๆ อย่างเราที่เพิ่งเริ่มต้น ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก “กัญญ์” ใช้เวลาในการก่อตั้งธุรกิจนานเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะติดลำดับเรื่องของระยะเวลาและลำดับในการให้บริการที่ต่อเนื่องกัน แต่สุดท้ายก็สามารถก่อตั้งธุรกิจและมีความพร้อมที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคงได้”
จาก Start up ที่เดินเตาะแตะ วันนี้พร้อมแล้วที่จะเติบโตเป็น SMEs ที่มีศักยภาพต่อไป
Kann Herbs เทคโนโลยีนาโนบรรเทาปวดสมุนไพร สำเร็จได้ด้วยพลังเครือข่ายและองค์ความรู้ต่างๆ
บทความจากหนังสือ RISMEP
กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
อ่านบทความทั้งหมด https://www.kannherbs.com/Kann_Resmep.pdf
Download หนังสือ RISMEP ฉบับเต็ม https://drive.google.com/drive/u/2/folders/1uOxoXYpKC_JwL3RD8LprpqUy_08UEryg